Mouth sores and ulcers

BY Manop

  • 03 พฤศจิกายน 2561
  • 5,936

ทรมานไหมกับแผลในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม ริมฝีปากด้านใน ที่เวลากินอะไรทรมานไปหมด อาหารโปรดอย่างน้ำพริก แกงเผ็ด ต้องอดกิน แล้วจะทำอย่างไรจะหนีแผลร้อนในได้พ้น ไม่ต้องมาอยู่ในปากคุณตลอดกาล

          

ธรรมชาติแผลที่ว่าอาจจะมีแค่แผลเดียวหรือบางคนอาจมีหลายแผล ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้จะเจ็บปวดมากน้อยตามสภาพแผลแต่ละคน

 

แล้วสาเหตุสำคัญมากจากอะไร 

แผลร้อนในมาจาก 2 สาเหตุใหญ่คือ สภาพภายในร่างกาย ความเครียด ความกังวล ความเหนื่อยล้า อารมณ์โมโหฉุนเฉียว นักบริหารระดับสูงที่ต้องวางแผน ตัดสินใจ การงาน สมองทำงานหนัก นักเรียน นักศึกษาที่เคร่งเครียด กับการเรียนการสอบ 

           

การกินอาหารที่ออกฤทธิ์ร้อนในปริมาณไม่สมดุลกับร่างกาย อาหารทอดน้ำมัน เนื้อติดมัน เหล้า เบียร์ ขนมปังบิสกิตส์ ไอศกรีม ผลไม้รสหวานอย่างลำไย ทุเรียน แล้วไม่ได้กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นในปริมาณที่พอเหมาะ การขาดวิตามินบีทำให้ปากเป็นแผลร้อนในได้เช่นกัน

           

และการโดนกระทำจากสิ่งแวดล้อมภายนอก จากสารเคมีในยาสีฟัน การกระแทกจากการแปรงฟัน ขนแปรงสีฟันที่เริ่มบานออก บางคนเคี้ยวอาหารเร็วเกินไป เผลอไปเคี้ยวกระพุ้งแก้ม เคี้ยวเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในช่องปากตนเองจนเป็นแผลแล้วกลายเป็นแผลร้อนใน ในที่สุด 

 

 

ป้องกันการเป็นแผลร้อนใจ 

การป้องกันการเกิดแผลร้อนในให้ได้ผลควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการกระแทกจากภายนอก อาจช่วยลดโอกาสการเกิดแผลร้อนในให้ลดน้อยลงได้ อย่างค่อย ๆ เคี้ยวอาหาร แปรงฟันช้า ๆ หมั่นเปลี่ยนแปรงสีฟันที่มีขนแปรงที่บานออก เพราะเวลาแปรงฟันจะไปขูดโดนเนื้อเยื่อในช่องปาก สำหรับผู้ที่เป็นแผลร้อนในบ่อย ๆ ควรใช้ยาสีฟันชนิดที่ทำจากธรรมชาติไม่ออกฤทธิ์ข้างเคียง

          

พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด เวลากังวลมากจนเกินไปควรไปพบจิตแพทย์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เวลากินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน อาหารทอดน้ำมันควรบ้วนปากให้สะอาด

           

อย่ากินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากเกินไปอย่างทุเรียน ลำไย ควรกิน มังคุด แตงโม ที่มีฤทธิ์เย็นในปริมาณที่สมดุลกัน ควรรีบไปพบแพทย์ในกรณีที่มีอาการเจ็บแผลมากหรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม

 

ยาที่ใช้รักษา

ยาที่ออกฤทธิ์ดีคือยาที่ใช้ป้ายที่แผลโดยตรงอย่างไตรโนโลนชนิดป้ายปาก ใช้ยาตามปริมาณข้างซองยาแนะนำ หาซื้อได้ในขนาดประหยัดที่ร้านขายยาทั่วไป และไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide)

 


 

เอกสารอ้างอิง 

  • แผ่นฟิล์มอัลจิเมตและวานหางจระเข้สำหรับแผลร้อนใน, สุพรรณษา บุญมาเลิศ.2558
  • www.haamor.com “แผลร้อนใน”. ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์)