HOW TO CHOOSE YOUR SUNGLASSES

BY Staff3

  • 15 กรกฏาคม 2556
  • 2,811

แว่นกันแดดนับเป็นหนึ่งในไอเทมที่มีความสำคัญพอสมควรให้การคอมพลีทลุคและมีประโยชน์ต่อดวงตาของคุณเป็นอันมาก แต่อย่าลืมนะครับว่าแว่นกันแดดที่ดีนั้นจำเป็นกันแดดได้จริงๆไม่ใช่ใส่เพื่อเป็นแฟชั่นหรือความโก้หรูเพียงอย่างเดียว

 

แว่นตากันแดดที่ดีควรมีคุณสมบัติที่สามารถลดความสว่างของแสงลงได้ 70-80% เพื่อลดผลกระทบของแสงจ้าต่อการทำงานของจอประสาทตาในการแยกแยะรายละเอียดของวัตถุในที่สว่าง(Contrast Sensitivity) และความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่มีแสงลดลง(Dark Adaptation) โดยการเลือกสีเลนส์ที่มีความเข้มพอเหมาะ

 

 

การเลือกซื้อแว่นตากันแดดนั้นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติพื้นฐาน ดังต่อไปนี้

 

1. ความสามารถในการป้องกันหรือดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือ UV 

รังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นประกอบด้วยรังสี UVA, UVB และ UVC ซึ่งแตกต่างกันไปตามความยาวคลื่น ที่มีในแสงแดดจะประกอบด้วยรังสี UVA 90% และ UVB 10% ส่วน UVC จะถูกกั้นด้วยบรรยากาศชั้นโอโซน ทำให้ไม่ผ่านมาถึงผิวโลก นอกจากนี้ยังมีในแสงที่มาจากงานอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น แสงที่เกิดจากการเชื่อมเหล็ก โคมไฟฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น รังสี UV นี้จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคทางตาหลายอย่าง เช่น ต้อเนื้อ, กระจกตาอักเสบ, ต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม 

 

 

ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงจากแสงอุลตร้าไวโอเลตโดยเฉพาะในแสงแดด ซึ่งต้องเจอในชีวิตประจำวันโดยการสวมแว่นตากันแดดป้องกัน ตามมาตรฐานของแว่นตากันแดด วัสดุที่ใช้ทำเลนส์จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UVB ได้อย่างน้อย 70% และรังสี UVA ได้อย่างน้อย 60% สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ทำเลนส์แว่นตากันแดดมีด้วยกันหลายชนิด เช่น วัสดุประเภท Polycarbonate มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99 % ส่วนวัสดุที่เป็นพลาสติก(CR-39) และกระจกจะมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV เพิ่มขึ้นได้โดยการเคลือบสารเคมีลงบนผิววัสดุ


ในทางปฏิบัติควรมองหาป้ายรับรองที่ติดมากับแว่นตาว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้มากน้อยเพียงใด ป้ายที่เขียนว่า “block UV” นั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าป้องกันรังสี UV ได้เท่าใด สำหรับป้ายที่เขียนว่า “UV protection up to 400 nm” หมายความว่า สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100% ดังนั้นจึงควรเลือกใช้แว่นตากันแดดที่มีการรับรองว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99-100%

 


ยังมีสภาวะแวดล้อมบางอย่างจะมีผลต่อโอกาสที่จะได้รับรังสี UV ในระดับที่แตกต่างกัน จึงควรคำนึงถึงด้วย เช่น

  1. แสงสะท้อนจากธรรมชาติหรือวัสดุผิวเรียบ เช่น หิมะจะสะท้อนรังสี UV ได้สูงถึง 60-80% ในเวลากลางวัน ไม่ว่าจะมีแสงแดดส่องหรือไม่ก็ตาม, ทรายตามชายหาดหรือทะเลทรายจะสะท้อนรังสี UV ประมาณ 15% ขณะที่ผิวน้ำสะท้อนได้ประมาณ 5%
  2. ระดับความสูง ยิ่งอยู่ที่สูง เช่น บนภูเขาจะยิ่งมีรังสี UV มาก
  3. ตำแหน่งที่ตั้ง ยิ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีโอกาสรับรังสี UV มากกว่าบริเวณอื่นของโลก
  4. ฤดูกาล จะมีรังสี UV มากที่สุดในฤดูร้อน รองลงมาคือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ตามลำดับ
  5. ช่วงเวลา มีรังสี UV มากระหว่างเวลา 10:00-16:00 น. และสูงที่สุดในเวลาเที่ยงวัน
  6. ระยะเวลา ยิ่งอยู่กลางแดดนาน จะยิ่งได้รับรังสี UV มากตามไปด้วย
  7. สภาพอากาศ เมฆหรือหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้

 

 

2. การลดความเข้มของแสงแดด หรือแสงสะท้อน

แว่นกันแดดควรมีคุณสมบัติที่สามารถลดความสว่างของแสงลงได้ 70-80% เพื่อลดผลกระทบของแสงจ้าต่อการทำงานของจอประสาทตาในการแยกรายละเอียดของวัตถุในที่สว่าง (Contrast Sensitivity) และความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่มีแสงลดลง (Dark Adaptation) โดยการเลือกสีเลนส์ที่มีความเข้มพอเหมาะ หรือเคลือบเลนส์ด้วยสารกันแสงสะท้อน (Anti-Reflection) หรือสารสะท้อนแสง(Mirror Coating) เป็นต้น

 

การเคลือบสีเลนส์ (Gradient Tint) มักเคลือบสีเข้มทางด้านบนของเลนส์ แล้วไล่สีจางลงสู่กลางเลนส์ด้านล่าง การเคลือบสีแบบนี้ได้ผลดีในการลดแสงจ้าที่มาจากตำแหน่งเหนือระดับสายตา เช่น ดวงอาทิตย์ เหมาะสำหรับการใส่ขับรถ แต่ไม่เหมาะสำหรับใส่เล่นกีฬากลางแจ้ง แว่นตากันแดดสำหรับใส่เล่นกีฬาควรเคลือบสีเข้มทั้งด้านบนและด้านล่าง และไล่สีจางตรงกลาง เพื่อตัดแสงสะท้อนจากพื้นน้ำหรือหิมะด้วย

การเคลือบสารกันแสงสะท้อน (Antireflection) ช่วยลดแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นในเลนส์แว่นตาที่จะมารบกวนการมองเห็น นอกจากนี้ยังลดแสงสะท้อนที่ผิวเลนส์ด้านนอก ทำให้ผู้อื่นมองเห็นดวงตาของผู้ใส่แว่นตาได้ชัดเจนไม่มีเงาสะท้อนที่ผิวเลนส์ ทำให้ดูเหมือนไม่ได้ใส่แว่นตาจึงดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น

การเคลือบสารสะท้อนแสง (Mirror Coating) เป็นการลดแสงที่จะเข้าตาโดยการสะท้อนแสงกลับคล้ายกระจกเงา โดยไม่มีผลต่อการมองเห็น ผู้ใส่ยังสามารถมองเห็นผ่านเลนส์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

เลนส์ Polarized เนื้อเลนส์จะใสแต่สามารถลดแสงที่จะผ่านเข้าตาได้ โดยเนื้อเลนส์จะตัดแสงที่ผ่านเลนส์ให้เหลือเพียงระนาบเดียว เหมาะสำหรับกิจกรรมที่ต้องการการมองเห็นที่ชัดเจนแต่ต้องเจอแสงสะท้อนจากพื้นผิวต่างๆโดยที่ไม่มีแสงแดดจ้า เช่น ขับรถ, เล่นสกี, ตกปลา เป็นต้น

นอกจากนี้ควรเลือกแว่นตากันแดดที่มีรูปทรงที่เหมาะสมและเข้าได้กับลักษณะใบหน้าของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถปกป้องดวงตาจากแสงที่มาจากมุมต่างๆ ได้รอบทิศ และต้องคำนึงไว้เสมอว่า การลดทอนความจ้าของแสงแดดและแสงสะท้อนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการป้องกันรังสี UV เพราะสารที่ป้องกันรังสี UV ได้นั้นไม่มีสี ความเข้มของสีเลนส์แว่นกันแดดกับการป้องกันรังสี UV จึงเป็นคนละเรื่องกัน

 

3. สีเลนส์แว่นตากับกิจกรรมต่างๆ

การเลือกสีของเลนส์แว่นตาให้เหมาะสมกับกิจกรรมหรืองานที่ทำสามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้

  1. สีเทา (Gray), สีเขียวอมเทา (แบบแว่น Ray-Ban) ลดความเข้มของแสง โดยไม่ทำให้สีของวัตถุผิดเพี้ยน
  2. สีน้ำตาล (Brown) ช่วยเพิ่มความสามารถของการมองแยกรายละเอียดของวัตถุในที่สว่างได้ดีมาก (Very High Contrast) เหมาะสำหรับเมื่อต้องการมองแยกวัตถุต่างๆได้ชัดเจน แต่จะทำให้สีของวัตถุเพี้ยนไป
  3. สีอำพัน (Amber) ช่วยให้มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ดีขึ้น ป้องกันแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา เหมาะสำหรับนักบิน คนขับเรือ นักยิงปืน นักสกี
  4. สีเหลือง (Yellow) ช่วยให้มองแยกรายละเอียดของวัตถุ (Contrast) ได้ดีขึ้น แต่ทำให้สีของวัตถุดูกระด้าง
  5. สีชมพู (Pink), สีแดง (Red) เหมาะสำหรับคนที่มีกล้ามเนื้อตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำให้สีเพี้ยนไปด้วย
  6. สีแดงชาด (Vermillion) ช่วยให้มองแยกส่วนที่เป็นน้ำออกจากวัตถุอื่นๆได้ดี แต่ทำให้วัตถุมีสีผิดเพี้ยนมากที่สุด
  7. สีฟ้า (Blue) ช่วยให้มองเห็นวัตถุที่มีสีขาวเช่น หิมะ ได้ดี แต่ก็ทำให้สีอื่นเพี้ยนเช่นกัน

 

 

 

ที่มา http://dr.yutthana.com/