8 Tips For Public Speaking

BY Poy T.

  • 09 พฤษาภาคม 2562
  • 4,098

อาการขาสั่น มือเย็น เหงื่อตก ใจเต้นรัว หายใจไม่เป็นจังหวะ พูดติด ๆ ขัด ๆ ถ้านอกจากการเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุก หรือการออกเดทแรกกับสาวที่คุณหลงรัก ก็น่าจะเป็นการที่คุณต้องมี Public Speaking หรือการพูดในที่สาธารณะนี่แหละที่ทำให้คุณเกิดอาการแบบนี้ขึ้นได้  ซึ่งมันก็ดูเหมือนจะเป็นอาการที่กวนใจและคอยขัดการพูดในฝันของคุณอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เอาล่ะ! ถึงเวลาสลัดความกลัวทิ้งแล้วมาเติมความมั่นใจให้กับตัวเองกันดีกว่า…เชื่อใจเราได้เลยเพราะเราได้รวบรวมเทคนิคการมี Public Speaking ที่ดีมาให้คุณเรียบร้อยแล้ว

 

1. แสดงให้ชัดเจนว่าคุณกำลังจะพูดอะไร

การเริ่มต้นด้วยความชัดเจนก่อนว่าสิ่งที่คุณกำลังจะพูดเกี่ยวกับอะไรและผู้ฟังจะได้อะไรจากการรับฟังคุณถือว่าเป็นเหมือนด่านแรกที่จะทักทายและทำให้ผู้ฟังหันมาสนใจคุณมากขึ้นได้ พยายามอย่ายืดเยื้อในส่วนนี้และอย่าลืมว่าคุณต้องมั่นใจในตัวเองพร้อมทั้งเนื้อหาของคุณต้องเป็นอย่างที่คุณสัญญากับผู้ฟังจริง ๆ เราขอแนะนำให้คุณแบ่งการพูดออกเป็นส่วนเกริ่นนำ เนื้อหา และอย่าลืมสรุปให้ผู้ฟังด้วย

 

2. อย่าลืมสอดแทรกข้อมูลที่จับต้องได้หรือเห็นภาพชัด ๆ เข้าไป

มันน่าสนใจกว่าแน่นอนถ้าคุณนำตัวอย่างจริงหรือเรื่องราวของสถิติเข้ามารวมอยู่กับการพูดของคุณในส่วนนี้อาจจะทำให้คนที่เพิ่งได้ฟังหรือคนที่แอบไม่ Active กับการฟังครั้งนี้หันมาสนใจคุณมากขึ้นได้เพราะข้อมูลมันล่อใจนั่นเอง

 

 

 

3. การฝึกฝนเท่านั้นที่จะช่วยคุณได้

การฝึกด้วยเทคนิค Basic อย่างการพูดหน้ากระจก การอัดเสียง อัดวีดีโอ หรือซ้อมพูดให้คนใกล้ชิดฟังก็ดีจะเป็นวิธีที่ดีไม่น้อยไปกว่ากันเลย แต่เราขอเน้นว่าในการฝึกคุณควรที่จะมีโอกาสได้เห็นตัวเองดังนั้นการฝึกหน้ากระจกและการอัดวีดีโอเป็นตัวช่วยสำคัญที่เราไม่อยากให้คุณละเลยที่จะใช้มัน เพราะถ้าคุณได้เห็นบุคลิกท่าทางของตัวเองแล้วยังรู้สึกไม่ชอบหรือขัดใจตรงไหนก็ควรปรับปรุงจุดนั้นทันที เพราะคุณอาจจะสังเกตเห็นว่าตัวเองยืนหลังค่อม ชอบใช้มือมากเกินไป เคลื่อนไหวบ่อย ดวงตาไม่นิ่ง ซึ่งวิธีนี้เป็นเหมือนการปรับบุคลิกภาพของคุณไปในตัวอีกด้วย

 

4. คุณต้องรู้จักผู้ฟัง

การที่คุณรู้ก่อนว่ากลุ่มผู้ฟังจะเป็นใครแน่นอนว่ามันทำให้คุณเตรียมแผนและวิธีการพูดได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นอย่ามัวแต่สนใจว่าคุณจะพูดอะไรให้หันมาสนใจด้วยว่าใครกำลังจะต้องนั่งฟังคุณ บรรยากาศที่ผ่อนคลายจะเกิดขึ้นได้ถ้าคุณเข้าใจผู้ฟังและแน่นอนว่ามันจะทำให้คุณมี Public Speaking ที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

 

5. ผ่อนคลายเข้าไว้

การหายใจลึก ๆ นอกจากจะทำให้สุขภาพดีแล้วยังเป็นเหมือนการเรียกสติในเวลาที่ร่างกายคุณเต็มไปด้วยความวิตกกังวล และให้คุณผ่อนคลายเข้าไว้จะทำให้การพูดของคุณราบรื่นได้อย่างแน่นอน หันมาสังเกตผู้ฟังและพยายามเชื่อมต่ออารมณ์กับพวกเขากันดีกว่า รับรองว่ามันจะทำให้ทั้งคุณและผู้ฟังค่อน ๆ เป็นเรื่องราวเดียวกันได้ในที่สุด

 

6. จินตนาการเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากการฝึกพูดบ่อย ๆ แล้วการนั่งนิ่ง ๆ แล้วจินตนาการถึงช่วงเวลาที่การพูดของคุณจบลงด้วยดีพร้อมทั้งการได้รับเสียงปรบมือและคำชื่นชมนั้นก็เป็นสิ่งที่คุณควรทำและคิดถึงอยู่เรื่อย ๆ เพราะมันเป็นการค่อย ๆ สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับตัวของคุณอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั่นเอง

 

 

7. อย่าลืมมีช่วงพักในการพูดด้วย

ช่วงพักที่ว่าควรอยู่ที่ประมาณ 3-8 วินาที และควรจะไปอยู่ในช่วงของก่อนและหลังการพูดถึงใจความสำคัญหรือเนื้อหาหลักนั่นเอง การเงียบให้ถูกจังหวะเป็นเหมือนการค่อย ๆ ดึงผู้ฟังให้เข้ามาสู่การพูดของคุณนั่นเอง

 

 

8. ไม่จำเป็นต้องขอโทษตลอดเวลา

แน่นอนว่ามันอาจจะมีข้อผิดพลาดเล็ก ๆ อย่างการพูดติดขัด การพูดเกินหรือน้อยกว่าสคริปที่คิดไว้แต่นั่นคือจุดที่มีแต่คุณที่รู้ผู้ฟังไม่ทันสังเกตแต่ถ้าคุณเริ่มเอ่ยคำขอโทษพวกเขาแล้วล่ะก็บอกเลยว่าคุณจะถูกจับตามองมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

นอกจากการฝึกฝนยอมรับข้อผิดพลาดปรับปรุงเข้าใจเนื้อหาและคิดคำพูดให้เหมาะกับผู้ฟังรวมทั้งคอยจินตนาการถึงความสำเร็จในการพูดของคุณเสมอแล้วนั้นการมี Eye Contact และรอยยิ้มที่เป็นมิตรอยู่บนใบหน้าเสมอก็ช่วยดึงเสน่ห์ในตัวคุณออกมาสะกดผู้ฟังได้ไม่น้อยเลยทีเดียว…สุดท้ายอย่าลืมหายใจลึก ๆ แล้วมั่นใจเข้าไว้คุณกำลังจะพูดสิ่งที่น่าฟังที่สุดออกมาให้โลกได้ยิน