HISTORY OF CHROME HEARTS

BY Staff writer Two

  • 02 สิงหาคม 2559
  • 6,874

โครมฮาร์ทแบรนด์เสื้อผ้าและแอคเซสซอรี่ชื่อดังที่ถือกำเนิดมาเป็นระยะเวลากว่าสามทศวรรษ โดยสามดีไซเนอร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงแฟชั่นไม่ว่าจะเป็น Richard Stark, Leonard Kamhout และ John Bowman ซึ่งต่อมาจะมีเพียง Richard Stark เท่านั้นที่เป็นผู้ควบคุมกิจการและการออกแบบทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ส่วนทาง Leonard ได้ไปก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับสุดหรูระดับไฮเอ็นของตัวเองที่มีชื่อว่า Lone One

 

 

จากยุคเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นโครมฮาร์ทไม่ได้เริ่มมาจากแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับในแบบปัจจุบัน โครมฮาร์ทเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์จำพวกฮาร์ดแวร์ประเภทซิป กระดุม ที่ใช้กับเครื่องหนังเพื่อเป็นการเปิดตลาดของตัวเอง โดยระหว่างร่วมงานกันทั้งสามคนมีความคลั่งไคล้ในเครื่องหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเริ่มจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเครื่องหนังให้กลุ่มเพื่อนๆของตัวเอง แต่จับผลัดจับผลูผลงานที่มีการตัดเย็บอย่างปราณีต ประกอบกับวัสดุคุณภาพสูง ทำให้ชื่อเสียงของพวกเขาถูกพูดถึงแบบปากต่อปาก และเริ่มเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างในกลุ่มคนที่รักเครื่องหนังและเครื่องประดับ

 

 

 

 ในปี 1992 แบรนด์โครมฮาร์ทได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขา Accessories Designer of the Year จากเวที CFDA (Council of Fashion Designers of America) ซึ่งรางวัลนี้เป็นผลงานการันตีความประสบความสำเร็จของแบรนด์ที่ทำให้เหล่าเซเลบริตี้และเศรษฐีผู้มีฐานะมากหน้าหลายตาแห่แหนเข้ามาจับจองเป็นลูกค้าของพวกเขาอย่างท่วมท้น ด้วยชื่อเสียงในแง่ของงานดีไซน์ที่ล้วนแล้วแต่ทำด้วยมืออย่างประณีตบรรจง การประยุกต์ใช้วัสดุที่มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทอง เงิน ไททาเนียมบริสุทธิ์ หินและอัญมณีมีค่าต่างๆ และหนังคุณภาพดี ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันความหรูหราและมีคุณภาพของโครมฮาร์ทได้ดีที่สุด

 

 

 

Karl Lagerfeld เฮดดีไซเนอร์ชื่อดังจากชาแนล (Chanel) และเฟนดิ (Fendi) อีกทั้งยังเป็นเจ้าของกิจการในแบรนด์ที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อของตัวเอง เป็นหนึ่งในลูกค้าที่มีความภักดีกับแบรนด์โครมฮาร์ทมาแล้วเป็นเวลานาน จะสังเกตการออกงานของคาร์ลในแทบทุกครั้ง นอกจากสไตล์เสื้อผ้าที่ชัดเจนของเขาแล้ว เครื่องประดับเกือบทั้งตัวของคาร์ลยังเป็นของโครมฮาร์ทล้วนแล้วทั้งสิ้น คิดดูเอาละกันว่าขนาดแฟชั่นอินฟลูเอ็นเซอร์ระดับโลกอย่างคาร์ล ลาเกอร์เฟล ยังเทใจให้โครมฮาร์ทไปเต็มๆ

 

 

แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน้าร้านโครมฮาร์ทให้ได้เห็นกันเป็นจริงเป็นจัง แต่ในตลาดออนไลน์ก็มักจะมีการพรีออเดอร์สินค้าของแบรนด์ดังกล่าวให้เห็นอยู่มากมาย และถ้าให้พูดกันตรงๆเกี่ยวกับราคาของสินค้าแต่ละชิ้นของแบรนด์นี้ก็สูงไม่ใช่เล่น โดยฐานะของผู้ที่ต้องการครอบครองอาจจะต้องอยู่ในระดับที่เรียกว่ามีอันจะกินเลยทีเดียว แต่ถ้าถามในแง่ของคนเสพผู้หลงไหลในงานศิลปะก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างราคากับคุณภาพของตัวสินค้าที่คุ้มค้าอยู่ไม่น้อย